วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

พระรัตนตรัย

ความหมายของธรรมะ

ความหมายของธรรมะ คำว่า ธรรมะ หรือธัมมะ พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 4 ประการคือ

1. คุณะ ได้แก่ ความประพฤติที่ดีงาม

2. เทศนา ได้แก่ คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม

3. ปริยัติ ได้แก่ ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 แบบ

4. นิสสัตต-นิชชีวะ ได้แก่ กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือกฎธรรมชาติ

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกธรรมไว้ 4 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ

1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่

2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่

3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ

4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง

กล่าวโดยสรุป ธรรมะ หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง

คุณค่าแห่งพระธรรม

คุณค่าของพระธรรมธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้จะมีจำนวนมากมาย แยกแยะเป็นหลายประเภท หากบุคคลรู้จักเลือกสรรเขาหัวข้อธรรมมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและชีวิตของตน ครอบครัว และสังคมแล้ว ย่อมจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของศาสดาผู้นำมาประกาศ หลักธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้วเป็นจริง เป็นสิ่งที่พาไปสู่ความสงบสุข และประโยชน์เกื้อกูล คุณของพระธรรมที่เรียกว่า “ธรรมคุณ” สรุปได้ 6 ประการคือ

1. สฺวากขาโต ภควา ธมฺโม แปลว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเข้าตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริงแท้ อีกทั้งงามในเบื้องต้น(ละชั่ว : ประพฤติศีล) งามในท่ามกลาง (ทำดี : สมาธิ) และงามในที่สุด (ทำใจให้บริสุทธิ์ : ปัญญา) พร้อมทั้งอรรถ (เนื้อความ, ใจความ)พร้อมทั้งพยัญชนะ (อักษร) ประกาศหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

2. สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า อันผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง คือ ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้ใดบรรลุธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติธรรม ไม่บรรลุธรรม ถึงผู้อื่นจะบอกก็เห็นชัดเจนไม่ได้

3. อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใด บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใด เห็นเห็นผลได้ทันที อีกอย่างว่า ความเจริญเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

4. เอหิปสฺสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม และพิสูจน์ได้ หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

5. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา คือ ควรน้อมนำหลักธรรมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงหลักธรรม ด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น หมายความว่าเชิญชวนให้ทดลองปฏิบัติดู อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติให้เข้าไปถึงที่หมายคือ นิพพาน

6. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ แปลว่า อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน คือ เป็นวิสัยของวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น หรือรู้ได้จำเพาะตน ต้องทำ ต้องปฏิบัติ จึงรับรู้หรือรู้ได้เฉพาะตัว ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ ประจักษ์ที่ในใจของตนนี่เองพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นหลักให้แก่การดำเนินชีวิตของเรา เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องตามธรรมนั้น ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเจริญปรากฏออกมา จนกระทั่งเราเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มีชีวิตที่ดีงามมีความสุขอย่างแท้จริง

พระธรรมจึงเป็นรัตนะที่ 2 ในพระรัตนตรัย ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจะได้รับผลดังนี้

1. รักษาผู้ปฏิบัติธรรมให้อยู่เย็นเป็นสุข

2. เป็นดุจอาภรณ์ประดับใจให้งดงาม

3. พัฒนาคนไปสู่ความเป็นกัลยาณชน

4. ขจัดความชั่วออกจากจิตใจ

ไม่มีความคิดเห็น: