วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

สรุปเนื้อหา และแนวข้อสอบวิชาพระพุทธศาสนา

สรุปเนื้อหา และแนวข้อสอบวิชาพระพุทธศาสนาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๐

คำชี้แจง จะขณะนี้นักเรียนสามารถเข้าไปดูสรุปและแนวข้อสอบได้แล้ว ในเรื่องชาดก เรื่องพุทธสาวก พุทธสากา และชาวพุทธตัวอย่าง และเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (อริยสัจ ๔) สำหรับเรื่อง สัมมนาพระพุทธศาสนา นักเรียนสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/summana/p1.php

สัมมนาพระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการพัฒนา

พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการเมืองและสันติภาพ ให้นักเรียนเข้าไปดูได้ที่ http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/summana/p1.php

แนวข้อสอบพระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการเมืองและสันติภาพ

แนวข้อสอบพระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการเมืองและสันติภาพ

พระอนุรุทธะ


พระอนุรุทธะ


พระอนุรุทธะ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระเชษฐาร่วมสายโลหิต คือ เจ้าชายมหานามะ ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ ท่านมีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคะ และเจ้าชายกิมพิละ รวมทั้งเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ ชีวิตในเพศฆราวาสของท่านเต็มไปด้วยความอบอุ่นเนื่องจากพระมารดาทรงรักและดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตระกูลพระญาติทั้งหลาย นิยมให้บุตรหลานออกบวชตาม และเมื่อท่านถูกพระญาติถามถึงเหตุผลที่ไม่ออกบวช ท่านจึงได้ปรึกษากับเจ้าชายมหานามะว่าใครจะออกบวช และเมื่อได้ทราบว่า การที่ต้องเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองเรือนต้องเรียนรู้การงานทุกอย่าง เป็นต้นว่า ต้องทำนาทุกปีเพื่อจะได้มีข้าวไว้บริโภค การทำนาต้องเริ่มต้นด้วยการไถ ไถแล้วจึงคราด คราดแล้วจึงหว่านหรือปลูกข้าวกล้า ครั้นสุกแล้วต้องเก็บเกี่ยวและหอบเข้าลานเพื่อนวด เป็นต้น เจ้าชายอนุรุทธะเมื่อได้ฟังการงานของผู้ครองเรือนยิ่งลำบาก จึงตัดสินพระทัยออกบวช ไปทูลขออนุญาตจากพระมารดา พระมารดาไม่ประสงค์จะให้ออกบวช จึงบ่ายเบี่ยงให้เจ้าชายอนุรุทธะไปชวนเจ้าชายภัททิยะ เมื่อเจ้าชายภัททิยะตกลงพระทัยที่จะออกบวช ทำให้เจ้าชายที่เป็นพระสหายที่เหลือก็ได้ตกลงพระทัยออกบวชตาม
เจ้าชายกลุ่มนี้ได้ออกเดินทางไปขอบวชโดยมีเจ้าชายภัททะยะเป็นผู้นำ ณ อนุปิยอัมพวัน เมื่อบวชแล้ว พระอนุรุทธะได้เจริญสมาธิภาวนาได้ทิพจุกขุญาณ (ตาทิพย์) ภายหลังได้รับคำแนะนำจากพระสารีบุตรเกี่ยวกับมหาปุริสวิตก 8 ประการ ท่านได้เดินทางไปสู่ปาจีนวังทายวันปาจีนวังทายวัน แคว้นเจตี สามารถทำได้บริบูรณ์ 7 ข้อ ส่วนข้อสุดท้ายไม่สามารถทำได้ ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า จึงเข้าใจและในที่สุดได้บรรลุอรหัตตผลเมื่อบรรลุแล้ว ท่านได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนา ท่านมีวัตรปฏิบัติที่น่าศึกษา คือ ความมักน้อย ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน ท่านแสวงหาผ้าบังสกุลตามกองขยะมาทำจีวร เนื่องจากจีวรที่ใช้อยู่ประจำนั้นขาดพระอนุรุทธะได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้แจ้งเหล่ามัลลกษัตริย์ให้อัญเชิญพระศพของพระพุทธองค์เข้าเมืองทางประตูเมืองทิศอุดร (เหนือ) ผ่านกลางเมืองแล้วไปออกทางประตูเมืองด้านทิศบูรพา (ตะวันออก) ก่อนนำไปถวายพระเพลิง ณ มกูฏพันธนเจดีย์ พระอนุรุทธะนิพพานหลังพุทธปรินิพพานนานเท่าใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร พระอนุรุทธะ เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ จนกระทั่งได้บรรลุอรหัตผล

2. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เป็นสดมภ์หลักของพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง

3. เป็นผู้มีความมักน้อย ถึงแม้ท่านจะเคยเป็นเจ้าชายในราชสกุลมาก่อน แต่ท่านก็มิได้เย่อหยิ่งถือพระองค์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพยกย่องของผู้อื่นอยู่เสมอ

พระองคุลิมาล

พระองคุลิมาล

พระองคุลิมาล ท่านเกิดในวรรณะพรามหณ์ เมืองสาวัตถี บิดาชื่อภัคควะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล มารดาชื่อ มันตานี มีชื่อเดิมว่า อหิงสกะ มีความเป็นอยู่สุขสบาย เมื่อเจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์เมืองตักกสิลา ท่านตั้งใจศึกษาอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็รับใช้อาจารย์และภรรยาด้วยความเคารพจึงทำให้ท่านเป็นที่โปรดปรานมาก จนศิษย์คนอื่น ๆ พากันอิจฉาริษยาและใส่ร้ายท่านต่าง ๆ นานา โดยที่สุดกล่าวหาว่าท่านเป็นชู้กับภรรยาของอาจารย์ ในที่สุดอาจารย์ก็หลงเชื่อจึงวางแผนฆ่าท่าน โดยบอกว่าศิษย์ที่ศึกษาจบศิลปวิทยานั้นต้องให้ครุทักษิณา (ของบูชาครู) แก่อาจารย์ กล่าวคือ นิ้วมือขวาของคน 1,000 นิ้วด้วยเชื่อว่าท่านจะต้องถูกฆ่าตายเสียก่อน อหิงสกะกุมารจึงออกล่านิ้วเมือคน และนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องไหล่ เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า “องคุลิมาล” (ผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย) ต่อมาความทราบถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงรับสั่งให้จัดกำลังทหารออกตามล่าท่าน

วันหนึ่ง โจรองคุลิมาลนับนิ้วมือยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบ 1,000 นิ้ว ตั้งใจว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วก็จักกลับไปเยี่ยมบิดามารดา จึงออกจากกลางป่ามายืนดักอยู่มที่ปากทางเข้าป่า ฝ่ายนางมันตานีซึ่งเป็นมารดาของท่านทราบว่ากองทัพของพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังมา จึงเดินมุ่งหน้าไปทางป่าที่โจรองคุลิมาลซ่อนอยู่ และวันนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ ทรงเห็นอุปนิสัยของโจรองคุลิมาลจะสามารถบรรลุมรรคผลได้ จึงรีบเสด็จไปโปรดทันเวลาที่นางมันตานีมาถึง เมื่อโจรองคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้าก็วิ่งไล่ตามพระพุทธเจ้าเพื่อประสงค์จะฆ่าและตัดเอานิ้วมือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้โจรองคุลิมาลวิ่งตามไม่ทันจนรู้สึกเหนื่อยล้า แล้วหยุดยืนอยู่กับที่ร้องขึ้นว่า “หยุดก่อน สมณะ หยุดก่อน” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด” พอพระพุทธเจ้าอธิบายให้ทราบว่า เราหยุดฆ่าสัตว์แล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด จึงพิจารณาตามและได้บรรลุโสดาปัตติผล ยอมทิ้งดาบก้มลงกราบพระบาทและทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ ครั้นบวชแล้วเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา
ภายหลังบรรลุอรหัตผลแล้ว ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่นั้นเกิดปีติโสมนัส ท่านได้แสดงความรู้สึกว่า “ผู้ใดประมาทมาก่อนแล้วเลิกประมาทเสียได้ภายหลัง ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนพระจันทร์ที่โผล่พ้นเมฆหมอก คือทำโลกนี้ให้สว่างไสวได้”ต่อมาท่านออกบิณฑบาต แต่กลับถูกขว้างปาด้วยก้อนดินและท่อนไม้จนบาตรแตก ตัวท่านก็บาดเจ็บ จึงจำต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านให้อดทน และทรงสอนว่าท่านกำลังได้รับผลกรรมที่ทำไว้ ท่านจึงแผ่เมตตาจิตไปในสรรพสัตว์ ท่านได้รับสรรเสริญว่าเป็นพระเถระประเภท “ต้นคดปลายตรง” คือ เบื้องต้นประมาทพลาดพลั้ง แต่ต่อมากลับเนื้อกลับตัวเป็นพระสาวกที่ดี เป็นตัวอย่างของอนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างดี

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1.เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร พระองคุลิมาลตอนเป็นอหิงสกะกุมาร ได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ท่านมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดถึงคอยรับใช้ใกล้ชิดอาจารย์และภรรยา จนเป็นที่รักและโปรดปรานของอาจารย์

2. เป็นผู้ไม่ประมาท หลังจากที่พระองคุลิมาลได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านกลับได้สติ จึงทูลขอบวชซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตบวชให้ นับว่าท่านเป็นคนประเภทต้นคดปลายตรง สมควรยึดถือเป็นเยี่ยงอย่าง

3. เป็นผู้มีความอดทน หลังจากท่านบวชแล้ว ประชาชนมักหวาดกลัวท่าน บางครั้งถึงกับถูกเขาขว้างด้วยก้อนหิน ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่ท่านก็มีความอดทน บำเพ็ญสมณธรรมและได้บรรลุอรหันต์ในที่สุด

พระธัมมทินนาเถรี


พระธัมมทินนาเถรี

พระธรรมทินนาเถรีเป็นชาวเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นภริยาของท่านวิสาขเศรษฐี ผู้สหายของพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขเศรษฐีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกพร้อมกันกับพระเจ้าพิมพิสาร ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่วันนั้น ต่อมาวันหนึ่ง ท่านเศรษฐีได้รับฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุอนาคามิผล ปกติพระอริยบุคคลระดับอนาคามีละความต้องการทางเพศได้แล้ว วันนั้น นางธรรมทินนาไม่ทราบว่าสามีบรรลุอนาคามิผลแล้ว เมื่อเห็นสามีกลับมาถึงบ้าน ยืนอยู่หัวบันไดก็ยื่นมือส่งให้หมายจะให้สามีเกาะ ปรากฏว่าสามีไม่เกาะและไม่พูดว่าอะไร สร้างความสงสัยให้แก่นางมาก เมื่อสามีรับประทานอาหารอิ่มแล้ว นางไม่สบายใจคิดว่าตนเองทำอะไรผิดสามีคงโกรธจึงสอบถามดู เมื่อท่านวิสาขเศรษฐีอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุไม่แตะต้องกายเธอ และบอกว่านับแต่บัดนี้ไปเธอประสงค์ทรัพย์เท่าใด จงรับเอาไปตามใจชอบแล้วกลับไปครอบครัวเดิมเสียเถิด นางธรรมทินนาจึงบอกสามีว่าถ้าเช่นนั้นฉันขออนุญาตไปบวชเป็นภิกษุณี สามีก็อนุญาต และเพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา วิสาขเศรษฐีจึงขอพระราชทานวอทองจากพระเจ้าพิมพิสารแห่นางรอบเมืองอย่างสมเกียรติ

เมื่อนางธรรมทินนาบวชแล้วก็ลาอุปัชฌาย์อาจารย์ไปปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งอยู่ต่างเมือง อีกไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วก็กลับมาโปรดอดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขเศรษฐีอดีตสามีพบท่านจึงนิมนต์ไปฉันภัตตาหารพลางคิดว่า พระเถรีคงอยากจะสึกจึงลองถามปัญหากับพระเถรี พระเถรีตอบได้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งจนหมดปัญญาที่จะถามต่อ จึงรู้แน่ว่าพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงมีความยินดียิ่งและกล่าวอนุโมทนาพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมทินนาเถรีว่าเป็นยอดทางด้านธรรมกถึก มีปัญญาเฉลียวฉลาดแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระธรรมทินนาเถรีก่อนออกบวชนั้น เมื่อได้ทราบว่าวิสาขเศรษฐีผู้สามีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้บรรลุธรรมแล้ว จึงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ใคร่จะออกบวช จึงขออนุญาตสามีซึ่งสามีก็อนุญาตให้บวชได้ตามความประสงค์

2. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็หวลระลึกนึกถึงวิสาขาเศรษฐีพร้อมด้วยหมู่ญาติ ก็ได้ เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อแสดงธรรมโปรดวิสาขเศรษฐีและหมู่ญาติได้ให้รับผลอันเกิดจากการฟังธรรม แสดงถึงความที่พระ เถรีมีความกตัญญูอย่างแท้จริง

3. เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านธรรมกถึก จึงสมควรที่จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี

จิตตคหบดี


จิตตคหบดี

จิตคหบดีเป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ วันที่ท่านเกิดมีปรากฏการณ์ประหลาด คือ มีดอกไม้หลากสีตกลงทั่วเมือง ซึ่งเป็นนิมิตหมายแห่งความวิจิตรสวยงาม ท่านจึงได้นามว่า จิตตกุมาร แปลว่า กุมารผู้น่าพิศวงหรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม บิดาของท่านเป็นเศรษฐีท่านจึงได้เป็นเศรษฐีสืบต่อมาจากบิดา ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า จิตตคหบดี ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธศาสนาท่านมีโอกาสพบพระมหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เห็นท่านสงบสำรวมน่าเลื่อมใสมาก จึงมีความศรัทธานิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ พระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ วันหนึ่งได้แสดงเรื่อง อายตนะ 6 (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคหบดีได้บรรลุ อนาคามิผล จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เนือง ๆ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดี ความสามารถของท่านในด้านนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้มีใจบุญได้ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันครึ่งเดือนก็เคยมี เคยพาบริวารสองพันคนบรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น จำนวนมากถึง 500 เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ความเป็นผู้มีมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ของจิตตคหบดีได้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ดังเช่นคราวหนึ่ง ท่านป่วยหนึก พวกเทวดามาปรากฏต่อหน้าท่าน พร้อมกับบอกว่า คนมีศีลมีธรรมอย่างท่าน ถึงตายไปก็ย่อมไปดี แม้ปรารถนาจะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชาติหน้าก็ย่อมได้ จิตตคหบดีตอบว่า “แม้ราชสมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ” บรรดาบุตรหลานที่เผ้าไข้อยู่ได้ยินจิตตคหบดีพูดอยู่คนเดียว จึงกล่าวเตือนว่า “ตั้งสติให้ดี อย่าเพ้อเลย” ท่านบอกบุตรหลานว่า มิได้เพ้อ เทวดามาบอกให้ปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรด์ แต่ท่านบอกพวกเขาไปว่าท่านไม่ต้องการ ยังมีสิ่งอื่นที่ประเสริฐกว่าความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก เมื่อบุตรหลานถามว่า สิ่งนั้นคืออะไร จิตตคหบดีตอบว่า “ศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดทั้งหมด”

คุณธรรมที่ถือเอาเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาธรรม จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เก่งในการแสดงธรรมและการสั่งสอนธรรม ท่านเป็นคนฉลาดมีเหตุผลในการให้คำอธิบายหลักธรรมต่าง ๆ ที่เชื่อกันผิด ๆ ให้กลับเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้

2. เป็นคนใจบุญ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยศรัทธามั่นคง พบพระสงฆ์ก็ทำบุญถวายทาน สร้างวัดถวาย เป็นต้น

3. มีศรัทธาตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย โดยมีศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย มากกว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

4. เป็นแบบอย่างของอุบาสกที่ดี คือฟังธรรมตามโอกาส บรรยายธรรมตามโอกาส ปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อมีนักบวชในศาสนาอื่นจาบจ้วง และปกป้องด้วยสติปัญญา ความสามารถ โดยไม่กล่าวร้ายตอบโต้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

ดร.เอ็มเบดการ์

ดร.เอ็มเบดการ์

แนวข้อสอบพุทธสาวก-พุทธสาวิกา และชาวพุทธตัวอย่าง

แนะนำแนวทางในการศึกษาแนวข้อสอบ

๑. ให้นักเรียนสรุปในประเด็นที่สำคัญและเป็นข้อเด่นจากเรื่องราวของพุทธสาวก พุทธสาวิกา และชาวพุทธตัวอย่างแต่ละท่านให้ได้

๒. ให้นักเรียนพิจารณาดูว่าแต่ละท่านนั้นมีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างอะไรบ้าง

๓. คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างของแต่ละท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง

๔. อาจจะมีการยกตัวอย่างคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างขึ้นมาแล้วให้นักเรียนตอบให้ได้ว่าคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างนั้นเป็นคุณธรรมของท่านใด

ข้อแนะนำ

- ให้นักเรียนทบทวนจากใบงานที่ ๑-๘

พระรัตนตรัย

ความหมายของธรรมะ

ความหมายของธรรมะ คำว่า ธรรมะ หรือธัมมะ พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 4 ประการคือ

1. คุณะ ได้แก่ ความประพฤติที่ดีงาม

2. เทศนา ได้แก่ คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม

3. ปริยัติ ได้แก่ ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 แบบ

4. นิสสัตต-นิชชีวะ ได้แก่ กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือกฎธรรมชาติ

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกธรรมไว้ 4 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ

1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่

2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่

3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ

4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง

กล่าวโดยสรุป ธรรมะ หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง

คุณค่าแห่งพระธรรม

คุณค่าของพระธรรมธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้จะมีจำนวนมากมาย แยกแยะเป็นหลายประเภท หากบุคคลรู้จักเลือกสรรเขาหัวข้อธรรมมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและชีวิตของตน ครอบครัว และสังคมแล้ว ย่อมจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของศาสดาผู้นำมาประกาศ หลักธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้วเป็นจริง เป็นสิ่งที่พาไปสู่ความสงบสุข และประโยชน์เกื้อกูล คุณของพระธรรมที่เรียกว่า “ธรรมคุณ” สรุปได้ 6 ประการคือ

1. สฺวากขาโต ภควา ธมฺโม แปลว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเข้าตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริงแท้ อีกทั้งงามในเบื้องต้น(ละชั่ว : ประพฤติศีล) งามในท่ามกลาง (ทำดี : สมาธิ) และงามในที่สุด (ทำใจให้บริสุทธิ์ : ปัญญา) พร้อมทั้งอรรถ (เนื้อความ, ใจความ)พร้อมทั้งพยัญชนะ (อักษร) ประกาศหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

2. สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า อันผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง คือ ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้ใดบรรลุธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติธรรม ไม่บรรลุธรรม ถึงผู้อื่นจะบอกก็เห็นชัดเจนไม่ได้

3. อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใด บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใด เห็นเห็นผลได้ทันที อีกอย่างว่า ความเจริญเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

4. เอหิปสฺสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม และพิสูจน์ได้ หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

5. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา คือ ควรน้อมนำหลักธรรมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงหลักธรรม ด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น หมายความว่าเชิญชวนให้ทดลองปฏิบัติดู อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติให้เข้าไปถึงที่หมายคือ นิพพาน

6. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ แปลว่า อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน คือ เป็นวิสัยของวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น หรือรู้ได้จำเพาะตน ต้องทำ ต้องปฏิบัติ จึงรับรู้หรือรู้ได้เฉพาะตัว ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ ประจักษ์ที่ในใจของตนนี่เองพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นหลักให้แก่การดำเนินชีวิตของเรา เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องตามธรรมนั้น ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเจริญปรากฏออกมา จนกระทั่งเราเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มีชีวิตที่ดีงามมีความสุขอย่างแท้จริง

พระธรรมจึงเป็นรัตนะที่ 2 ในพระรัตนตรัย ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจะได้รับผลดังนี้

1. รักษาผู้ปฏิบัติธรรมให้อยู่เย็นเป็นสุข

2. เป็นดุจอาภรณ์ประดับใจให้งดงาม

3. พัฒนาคนไปสู่ความเป็นกัลยาณชน

4. ขจัดความชั่วออกจากจิตใจ

แนวข้อสอบหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

แนวข้อสอบ

๑. ให้นักเรียนศึกษาและจำความหมายและความสำคัญของหลักธรรมในแต่ละข้อให้ได้ว่ามีอะไรบ้าง และอย่างไร

๒. ถ้ามีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ หรือสถานการ หรือข่าวมาให้ นักเรียนต้องพิจารณาและวิเคราะห์ให้ได้ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นสมุทัย สิ่งใดเป็นนิโรธ สิ่งใดเป็นมรรค

๓. ให้นักเรียนพิจารณาสรุปให้ได้ว่าเราสามารถที่จะนำหลักอริยสัจ ๔ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

ข้อชี้แจง

- ให้นักเรียนทบทวนจากใบงานที่ ๙ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมในอริยสัจ ๔

- ให้นักเรียนทบทวนจากใบงานที่ ๑๐ จะเป็นการวิเคราะห์อริยสัจ ๔ และการนำมาประยุกต์ใช้

- ให้นักเรียนทบทวนจากโครงการวิเคราะห์อริยสัจ ๔ ที่นักเรียนทำส่ง จะทำให้นักเรียนได้ทราบและวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าอะไรคือปัญหา (ทุกข์) อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา (สมุทัย) อะไรคือแนวทางในการแก้ปัญหา (นิโรธ) การนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา (มรรค)

อริยสัจ ๔ : ทุกข์

อริยสัจ 4 : ทุกข์ : ขันธ์ 5 : โลกธรรม 8
โลกธรรม 8 (worldly conditions)

โลกธรรม คือ ธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ธรรมที่ครอบงำโลก หรือธรรมที่มีประจำโลก หมายถึง ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมนี้ หรือทุกคนในโลกนี้ย่อมถูกโลกธรรมนี้กระทบทั้งนั้น ไม่มีใครพ้นไปได้เลย ยกเว้นพระอรหันต์ผู้อยู่เหนือโลกเท่านั้น โลกธรรมมี 8 ประการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกฝ่ายที่น่าปรารถนาและพึงพอใจ (อิฏฐารมณ์) และฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่พึงพอใจ (อนิฏฐารมณ์) ดังตารางต่อไปนี้


คู่ที่ 1 ได้ลาภ เสื่อมลาภ ลาภ หมายถึง การให้มาซึ่งสิ่งที่พึงพอใจ เช่น เงินทอง สิ่งของ บุคคล เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วยังมีทุกข์ติดตามแอบแฝง ซ่อนเร้นมากับลาภนั้นอีก บางคนต้องเสียชีวิตเพราะมีลาภและป้องกันลาภ ครั้นเมื่อสิ่งที่ได้มาแล้วมีอันต้องวิบัติสูญหายไปหรือถูกแย่งชิงไป เช่น เสียเงินเสียทอง เสียที่อยู่อาศัย เสียสิ่งที่รักที่หวงแหน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เรียกว่าเสื่อมลาภ จิตใจก็เป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องโลกธรรมตามความเป็นจริง ย่อมมีพฤติกรรมเกี่ยวกับลาภในทางที่ผิด เช่น มุ่งแสวงหาในทางทุจริต เกิดความโลภหรือความต้องการไม่มีสิ้นสุด จึงก่อให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภที่ตนต้องการ และหากสูญหายไปก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นทุกข์จนเกินเหตุ หากเข้าใจก็พึงแสวงหามาได้ตามกำลังความสามารถและสติปัญญาของตน ไม่โลภมาก หากสูญหายไปก็ถือว่าเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ทำให้เกิดความสบายใจ เข้าใจกฎของธรรมชาติในข้อนี้ ดุจดังสังขารในขันธ์ 5 ที่ปรุงแต่งขึ้นมา ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด

คู่ที่ 2 ได้ยศ เสื่อมยศ ยศ แปลว่า ความยิ่ง ความเด่น ซึ่งหมายถึง ความยิ่งของคน ความเด่นของคน ยิ่งด้วยความเป็นใหญ่ เรียกอิสริยยศ ยิ่งด้วยชื่อเสียงคุณความดี เรียก เกียรติยศ ยิ่งด้วยบริวาร พวกพ้อง เรียกบริวารยศ ทั้ง 3 ยศ หากมีความกระหายต้องการให้ได้ได้ยศมา ก็เกิดความวิตกกังวล เกิดความทุกข์ เพราะเกิดทั้งความโลภ เมื่อไม่ได้มาก็เกิดความโกรธ เมื่อมีแล้วก็เกิดความหลง ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่ายศเหล่านี้มีวันเสื่อมสลายไปในที่สุด เรียกว่า เสื่อมยศ หากเราไม่เข้าใจหลักธรรมข้อนี้ก็จะเกิดความหลงมัวเมาเมื่อมียศ เกิดความวิตกกังวล คับข้องใจ และเป็นทุกข์เมื่อเสื่อมยศ เป็นต้น

คู่ที่ 3 สรรเสริญ นินทา สรรเสริญ ได้แก่การกล่าวขวัญถึงความดี จะต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม การได้ฟังคำสรรเสริญ คำยกย่องคำชมเชย ทำให้ใจเบิกบาน มีความสุข ในทางตรงกันข้าม หากใครถูกนินทา หรือการพูดให้ร้ายหรือพูดในทางที่ไม่ดีในที่ลับหลัง ก็เกิดความไม่พึงพอใจ เกิดความโกรธ ทั้งสองประการนี้ หากไม่เข้าใจหลักธรรมเช่นนี้ ก็เกิดความลุ่มหลงมัวเมา หลงระเริง ทำให้เกิดความลืมตัว ก่อให้เกิดความเห็นผิด หลงตนเอง เมื่อคนอื่นสรรเสริญ และเกิดความไม่พึงพอใจ และทุกข์ใจในที่สุดเมื่อถูกนินทา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเข้าใจหลักธรรมนี้จะช่วยให้เกิดหลักของความอุเบกขา คือ ไม่แสดงอาการใด ๆ เมื่อถูกสรรเสริญ หรือนินทา ถือว่าเป็นธรรมดาของโลก

คู่ที่ 4 สุข ทุกข์ โลกธรรมคู่นี้เป็นคู่รวบยอด คือสภาพความเป็นอยู่ของคนเราเมื่อกล่าวโดยรวมยอดแล้วมี 2 สภาพคือ สุขและทุกข์เป็นสภาพที่มนุษย์เราจะต้องเผชิญทั้ง 2 ประการ ดังนั้นพึงเข้าใจว่าเราจะดำเนินวิถีชีวิตอย่างไรให้มีความสุขมากกว่าทุกข์ นั่นก็คือจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงความดับทุกข์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาได้นำเสนอหลักของอริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นสรุปก็คือโลกธรรมทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เมื่อเกิดมาแล้ว มันไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร ไม่แน่นอน ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ดังนั้นจึงไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น จะก่อให้เกิดความทุกข์ในที่สุด

อริยสัจ ๔ : สมุทัย

อริยสัจ 4 : สมุทัย : กรรมนิยาม : กรรม 12
กรรมนิยาม (Law of Kamma, Moral laws)

กรรมนิยาม คือ กฎการให้ผลของกรรม หรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการกระทำและการให้ผลของการกระทำ มี 2 ประการคือ การกระทำดี ย่อมได้รับผลดี กระทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

กรรม 12 (kamma, action)
กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว จะก่อให้เกิดกรรมดีเมื่อมีเจตนาจะทำความดี และจะก่อให้เกิดกรรมชั่วเมื่อมีเจตนาจะทำความชั่ว ในที่นี้ หมายถึง กรรมประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้นกรรม 12 แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ แต่ละหมวดแบ่งย่อยออกเป็น 4 ดังนี้คือ

หมวดที่ 1 กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา คือจำแนกตามเวลาที่ให้ผล แบ่งเป็น

1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน หรือในชาตินี้ เป็นกรรมที่มีพลังแก่กล้ามากจึงให้ผลในปัจจุบัน ฝ่ายกุศล ได้แก่ ศีล ทาน ที่ได้บำเพ็ญอยู่สม่ำเสมอ หรือกระทำกุศลอย่างแรงกล้า เช่น ยินดีเสียสละความสุขหรือแม้แต่ชีวิตของตน เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้รับผลจากการกระทำในชาตินี้ ตัวอย่างเช่น ปุณณทาสชายเข็ญใจ ยินดีเสียสละโดยนำเอาอาหารที่ภรรยาตั้งใจนำมาให้ตนรับประทานนั้นน้อยถวายแด่พระสารีบุตรพระอรหันต์เจ้า เมื่อคราวที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติมาใหม่ ๆ ทานนั้นได้อำนวยผลให้ปุณณทาสผู้เข็ญใจ กลับกลายไปเป็นมหาธนเศรษฐี ภายในเวลาไม่นานนัก และฝ่ายอกุศล อันได้แก่อกุศลหนักเช่น ประทุษร้ายบิดามารดา หรือผู้มีศีลบริสุทธิ์ ตลอดจนความชั่วที่กระทำอยู่เสมอ เช่นค้ายาเสพติด ย่อมถูกจับและถูกประหารชีวิตในที่สุด เป็นต้น

2. อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลที่ชาติหน้าหรือภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะชาตินี้ จะให้ผลในชาติหน้า

3. อปราปริยเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ได้แก่กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนดว่ากี่ชาติ สุดแต่ว่าจะได้โอกาสเมื่อไร ก็จะให้ผลเมื่อนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสก็จะรอคอยอยู่ ตราบใดที่ผู้นั้นยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ กรรมนี้ก็จะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา ตามทันเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น

4. อโหสิกรรม หมายถึง กรรมที่เลิกให้ผล ได้แก่กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะตอบสนองผลของการกระทำนั้น ๆ กรรมนั้นก็จะสิ้นสุด ถือว่าเป็นการหมดกรรม

หมวดที่ 2 กรรมที่ให้ผลโดยกิจ คือกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ แบ่งเป็น

5. ชนกกรรม หมายถึง กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวให้เกิดดุจบิดามารดา คือให้ผลในการปฏิสนธิ เช่น กระทำกรรมดี ได้เกิดในตระกูลที่เป็นเศรษฐี เป็นต้น

6. อุปัตถัมภกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน หรือกรรมอุปถัมภ์ เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนชนกกรรม เช่น เกิดมาในตระกูลยากจน แต่กระทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ไม่ขาด อาจได้รับความเวทนาสงสารจากบุคคลอื่น ให้ได้รับการศึกษา ได้มีงานทำ มีหน้าที่การงานก้าวหน้า จนสามารถยกฐานะของตนเองดีขึ้น เป็นต้น

7. อุปปีฬกกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น หรือกรรมเบียดเบียน คือกรรมที่คอยบีบคั้น เบียดเบียน ทำให้กรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนเบาบางลง เช่น เมื่อชนกกรรมนำไปเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่ถ้าเคยทำอกุศลกรรมอยู่เสมอ ครั้นเมื่อชนกกรรมหมดหน้าที่ เลิกให้ผล อกุศลกรรมซึ่งรอโอกาสอยู่ ก็จะเข้ามาทำหน้าที่เบียดเบียนทันที อาจจะทำให้ยากจนลง หรือถูกกระทำให้พลัดพรากจากครอบครัวตกระกำลำบาก เป็นต้น

8. อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่มีอำนาจมากเป็นพิเศษ จะให้ผลอย่างรุนแรงในทันที สามารถขจัดหรือทำลายกรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนแล้วให้พ่ายแพ้หมดอำนาจลงได้ จากนั้นกรรมตัดรอนก็จะเข้ามาให้ผลแทนต่อไป เช่น เกิดมาเป็นมหาเศรษฐี มีความสุขสบาย อยู่ได้ไม่นานก็ถูกฆ่าตาย จัดเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายชั่ว หรือเกิดมายากจน แต่ได้รับลาภใหญ่กลายเป็นเศรษฐีถือเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายดี เป็นต้น

หมวดที่ 3 กรรมที่ให้ผลตามความแรง คือกรรมที่ให้ผลตามความหนัก-เบา แบ่งเป็น

9. ครุกรรม หมายถึง กรรมหนัก ได้แก่กรรมที่ให้ผลแรงมาก ฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ 8 (การบรรลุชั้นสูง) ฝ่ายชั่วได้แก่ การกระทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า และทำให้สงฆ์แตกกัน ที่เรียกว่า สังฆเภท ผู้ใดกระทำกรรมเหล่านี้ แม้เพียงประการใดประการหนึ่งก็ตาม กรรมจะให้ผลอย่างหนัก และให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ ไม่มีกุศลกรรมใด ๆ จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

10. หหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม หมายถึง กรรมสะสม ได้แก่กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก ๆ หรือทำบ่อย ๆ สั่งสมไปเรื่อย ๆ กรรมไหนสะสมบ่อยและมาก ๆ ก็จะให้ผลกรรมเช่นนั้น

11. อาสันนกรรม หมายถึง กรรมเมื่อใกล้ตาย คือกรรมที่ระลึกได้เมื่อใกล้ตาย จะมีอิทธิพลในการเกิดในชาติใหม่ หรือชนกกรรม เช่น เมื่อใกล้ตายระลึกว่าชาตินี้ยากจน ได้ทำบุญกุศลไว้ไม่มากนัก อยากเกิดเป็นลูกเศรษฐีจะได้ทำบุญกุศลให้มาก ๆ เมื่อมาจุติในชาติต่อไปก็จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง เป็นต้น

12. กตัตตากรรม หมายถึง กรรมเล็ก ๆ น้อย หรือสักว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือไม่ตั้งใจทำ ทำความดีหรือทำความชั่วเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เคยทำไว้ เมื่อกรรมอื่นๆ ให้ผลหมดแล้ว กรรมชนิดนี้ถึงจะให้ผล ซึ่งเป็นกรรมที่มีอิทธิพลในการให้ผลน้อยที่สุด

อริยสัจ 4 : สมุทัย : มิจฉาวณิชชา 5
มิจฉาวณิชชา 5

มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ผิด หรือไม่ชอบธรรม หมายถึง บุคคลไม่ควรค้าขายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสัตว์และต่อสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย

1. สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข นอกจากนั้นยังก่อมลพิษต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย

2. สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ

3. มังสวณิชชา หมายถึง การขายเนื้อสัตว์ เป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ทุกชนิด

4. มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด

5. วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย

อริยสัจ ๔ : นิโรธ

อริยสัจ 4 : นิโรธ : วิมุตติ 5
วิมุตติ 5 (deliverance)
วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ เป็นภาวะจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน ภาวะความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ลักษณะด้านหนึ่งของความเป็นอิสระ ในเมื่อไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็คือ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ อย่างที่ท่านเรียกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ หรือ โลภะ โทสะและโมหะ เพราะจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว ทำให้ไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ ยังเป็นหลักประกันให้ประกอบการงานอย่างสุจริตด้วย สามารถเป็นนายเหนืออารมณ์ วิมุตติ ประกอบด้วย 5 ประการคือ

1. ตทังควิมุตติ คือ ความหลุดพ้นชั่วคราว หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เกิดความเจ็บปวด หายจากความโลภ เกิดเมตตา หายโกรธ เป็นต้น แต่ความโลภ ความโกรธนั้นไม่หายทีเดียว อาจจะกลับมาอีก เป็นต้น

2. วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยการสะกดไว้ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยกำลังฌาน คือ สะกดไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อนั่งสมาธิสามารถสะกดข่มกิเลสไว้ เมื่อออกจากสมาธิกิเลสก็กลับมาอีกครั้ง เป็นต้น

3. สมุจเฉทวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นเด็ดขาด หมายถึง ความพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจอริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ละกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป

4. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยความสงบ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลส เนื่องมาจากอริยมรรคอริยผลไม่ต้องขวนขวายเพื่อละกิเลสอีก

5. นิสสรณวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยสลัดออกไป หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสนั้นได้อย่างยั่นยืนตลอดไป ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ นิพพาน

อริยสัจ ๔ : มรรค

อริยสัจ 4 : มรรค : อปริหานิยธรรม 7
อปริหานิยธรรม 7 (condition of welfare)
อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียว สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมืองและพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้คือ อปริหานิยธรรมสำหรับหมู่ชนและการบริหารบ้านเมือง เป็นหลักในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว มี 7 ประการคือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

3. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

5. ไม่ข่มเหงสตรี เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลย พิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการพบปะปรึกษาหารือกิจการงานคณะสงฆ์โดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจกรรมสงฆ์ ซึ่งการประชุม และการทำกิจกรรมใดที่สงฆ์พึงกระทำร่วมกันและพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไขสิ่งเสียหาย เหตุไม่ดีไม่งาม

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ คือการไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

4. เคารพและรับฟังถ้อยคำของภิกษุผู้ใหญ่ คือภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง เช่น เราเคารพนับถือและเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระสังฆราช พระราชาคณะต่าง ๆ เป็นต้น

5. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่เกิดขึ้น

6. ยินดีในเสนาสนะป่า ยินดีในความเป็นอยู่ที่ง่าย ๆ เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ที่สงบร่มเย็น

7. ยินดีสมาชิกใหม่และความปรารถนาดีต่อสมาชิกเก่า คือตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารี (พระภิกษุสงฆ์) ทั้งหลายที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน และมีความปรารถนาดีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่เก่าให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุก

อริยสัจ 4 : มรรค : ปาปณิกธรรม 3
ปาปณิกธรรม 3 (qualities of a successful shopkeeper or businessman)
ปาปณิกธรรม คือ หลักของการเป็นพ่อค้า หรือคุณสมบัติของพ่อค้า หมายถึง การเป็นพ่อค้าที่ดีจะต้องมีหลักในการค้าหรือมีคุณสมบัติด้านการค้าดังต่อไปนี้

1. จักขุมา คือ ตาดี หมายถึง การรู้จักสินค้า ดูสินค้าเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

2. วิธูโร คือ จัดเจนธุรกิจ หมายถึง รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวหรือความต้องการของตลาด มีความสามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า บริการตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

3. นิสสยสัมปันโน คือ มีพร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย หมายถึง ทำตัวเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจใสหมู่แหล่งทุนใหญ่ (เครดิตดี) มีความสามารถหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้โดยง่าย

อริยสัจ 4 : มรรค : ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4
ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (virtues condutive to benefits in the present)


ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1. อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2. อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3. กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4. สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

อริยสัจ 4 : มรรค : โภคาอาทิยะ 5
โภคาอาทิยะ 5 (uses of possessions)


โภคอาทิยะ คือ เมื่อมีทรัพย์สิน ควรนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย

1. ใช้จ่ายทรัพย์ นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข

2. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

3. ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ

4. ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่าง ได้แก่

......ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร

......ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ

......ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

......ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของสังคม

......จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ

5. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

อริยสัจ 4 : มรรค : อริยวัฑฒิ 5
อริยวัฑฒิ 5 (noble growth)


อริยวัฑฒิ คือ ความเจริญอย่างประเสริฐ คือหลักความเจริญของอารยชน หรือคนที่เจริญแล้ว ประกอบด้วย

1. ศรัทธา คือความเชื่อ ความเชื่อที่ถูกต้อง ความเชื่อที่เป็นจริง ความเชื่อมั่นในหลักพระพุทธศาสนา ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยความไม่งบงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นต้น

2. ศีล คือความประพฤติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจา ความมีระเบียบวินัย การทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต เป็นต้น

3.สุตะ คือการเล่าเรียนสดับตรับฟังการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอความรู้ความเข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาพอแก่การปฏิบัติและสามารถแนะนำผู้อื่นได้

4. จาคะ คือ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจช่วยเหลือ ความเป็นคนใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว จิตใจไม่คับแคบ เป็นต้น

5. ปัญญา คือ ความรอบรู้ การรู้จักคิด รู้จักการพิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุข รู้และเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้

อริยสัจ 4 : มรรค : มงคล 38 : ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว
ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว โลกธรรม คือ เรื่องของโลก ธรรมดาของโลก ธรรมชาติของโลก หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นอยู่คู่กับมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ไม่มีใครสามารถหลุดพ้นได้ แม้แต่พระอริยบุคคลก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โลกธรรม มี 8 อย่างแบ่งออกเป็น

1. อารมณ์ที่น่าปรารถนา พึงพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความสุข

2. อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่พึงพอใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ได้รับการนินทา และได้รับความทุกข์โลกธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเกิดขึ้นกับปุถุชนทั่วไป และเกิดแก่พระอริยสาวก จะแตกต่างกันก็แต่การวางใจและการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ

1) ปุถุชนทั่วไป ที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่รู้จักฝึกอบรมตน ย่อมไม่เข้าใจ ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ลุ่มหลงลืมตน ยินดียินร้าย คราวได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็หลงไหลมัวเมา หรือลำพองจนเหลิงลอย คราวเสียลาภ เสียยศ ถูกนินทา และเป็นทุกข์ ก็เกิดการท้อ หมดกำลังใจ หรือถึงกับคลุ้มคลั่ง ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ ไม่พ้นจากความทุกข์โศก

2) ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม ผู้เป็นอริยสาวก สามารถรู้และพิจารณารู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นกับตน ล้วนไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่สมบูรณ์ มีความแปรปรวนได้เป็นธรรมดา จึงไม่หลงไหลมัวเมา เคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปละไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา มีจิตใจไม่หวั่นไหว มีสติดำรงอยู่ได้ วางตัววางใจให้พอดี ไม่หลงระเริงในความสุข และไม่ถูกความทุกข์ทับถมจิตใจ เป็นต้นยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบ ยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบเป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตนและใช้อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นโอกาสหรือเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม และบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป

จิตไม่เศร้าโศก

ความเศร้าโศก ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นปฏิกิริยาอาการที่ไม่ดีของธรรมชาติสำหรับมนุษย์ อันเกิดมาจากสาเหตุต่าง ๆ นา ๆ นานัปการ เช่น เกิดจากความเสื่อมจากญาติ เกิดจากความเสื่อมจากทรัพย์ เกิดจากความเสื่อมจากเกียรติยศชื่อเสียง หรือเกิดจากการถูกทำลาย ทั้งทางกายและจิตใจ หรือความขัดแย้งกันระหว่างความรู้สึกภายในจิตใจกับสิ่งภายนอกร่างกาย

ความเศร้าโศก ต้องบรรเทาด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการระงับความรู้สึก ด้วยการข่มจิตใจและด้วยการปรับเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีให้เป็นความรู้สึกที่ดี เช่น ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้เคยทำไว้ในกาลก่อน หรือด้วยการระงับประสาทระงับความรู้สึกที่ไม่ดี

การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก จึงเป็นภาวะของพระอริยเจ้า ที่มีจิตใจสงบ มั่นคง เด็ดเดี่ยว หนักแน่นและเข้มแข็ง เพราะความรู้สึกเล็ก ๆ น้อยจากความเสื่อมทั้งหลายที่กล่าวมา ไม่สามารถทำให้ท่านมีจิตใจหวั่นไหวและเศร้าโศกได้ เป็นคุณสมบัติอันพิเศษ อันอยู่เหนือวิสัยของปุถุชนคนธรรมดา เป็นภาวะที่มาจากการฝึกฝนจิตให้เข้มแข็ง ทำให้มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจสูง ทำให้มีพลังความอดทนและความเด็ดเดี่ยวอยู่เหนือความรู้สึกทั้งหมด ความไม่เศร้าโศกจึงทำให้ร่างกาย และจิตใจผ่องใสเบิกบาน ทำให้เป็นศิริมงคลแก่ตัวเองและผู้พบเห็น เป็นการบรรลุจุดหมายอันสูงสุดของชีวิต เป็นผู้กำจัดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของชีวิตได้หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้ดำรงอยู่ในปรมัตถธรรม พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก เป็นมงคลสูงสุด

ราคะ คือ ความกำหนัดรักใคร่อยากในรูป เสียง กลิ่น รส และอยากสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่พึงพอใจ ชอบใจ ทำให้สุขกายสุขใจที่ผสมไปด้วยความทุกข์ และความเศร้าหมองของกายและใจ

โทสะ คือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความอาฆาตพยาบาทและปองร้าย ความรู้สึกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งทางร่ายกาย วาจาและใจ เป็นภาวะที่ไม่ดีแก่ตัวเองและผู้อื่นเมื่อเกิดความโกรธขึ้น

โมหะ คือ ความหลง ความโง่เขลาเบาปัญญา ความหลงผิด ความเป็นผิดเป็นถูก ความเห็นถูกเป็นผิด เป็นความรู้สึกที่ขาดประสบการณ์ ขาดการวิเคราะห์ ขาดความรับผิดชอบชั่วดีในเรื่องคุณธรรม

ราคะ โดยธรรมชาติแล้ว เป็นสิ่งที่มีโทษน้อยและคลายช้า แต่ถ้ามีโทสะ โมหะเกิดขึ้นร่วมด้วยก็จะทำให้ราคะมีโทษมาก มีพลังมาก มีความรุนแรงมาก ดังนั้นจึงควรกำจัดหรือระงับราคะด้วยอสุภสัญญา คือ พยายามวิเคราะห์ หรือพิจารณาทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส และอารมณ์ความรู้สึกเป็นของธรรมดา อีกไม่ช้าก็จะสูญสลายไปในที่สุด

จิตเกษม
จิตเกษม คือ จิตที่มีสภาวะเป็นกลางและจิตที่ปราศจากกิเลส คือ ไม่มีกิเลสที่เรียกว่า โยคะ และโยคะ ได้แก่ กิเลสที่ครอบงำ สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ที่มีกิเลส อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า โยคะ มี 4 อย่างคือ

1. กามโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความรักใคร่ ความพอใจ ผูกใจติดอยู่ในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

2. ภวโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความพอใจ หลงอยู่ติดอยู่ในรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่มีรูปร่าง 16ชั้น มีชั้นมหาพรหม เป็นต้น และอรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่ไม่มีรูปร่าง มี 4 ชั้น มีชั้นสวิญญาณัญจายตนะ เป็นต้น และความผูกใจติดอยู่ในฌาน 4 มี ปฐมฌาน เป็นต้น อันเป็นความกำหนัดที่ประกอบไปด้วยความเชื่อว่า จิตวิญญาณ เป็นของเที่ยง ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย

3. ทิฏฐิโยคะ ได้แก่ ความพอใจหลงติดอยู่ในทิฏฐิ 62 ประการ คือ มีความเชื่อว่า โลกนี้เที่ยง เป็นต้น อันเป็นความเห็นผิดที่ครอบงำสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจของการเวียนว่ายตายเกิด

4. อวิชชาโยคะ ได้แก่ กิเลสครอบงำสัตว์ให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ทำให้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ความจริงตามแบบอริยสัจทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ได้ ทำให้เป็นทุกข์สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ หาจุดหมายไม่ได้ การมีจิตเกษม เป็นเหตุให้ปลอดโปร่งโล่งใจ เป็นเหตุให้เป็นอิสรภาพจากโลกธรรมทั้งหลาย คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศได้รับคำสรรเสริญ ถูกนินทา ได้รับความสุข และความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถครอบงำจิตใจของเราได้ จึงมีความเป็นอยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้มีความเป็นเอกภาพในตัวเอง คือ ได้ศึกษาค้นคว้าฝึกปฏิบัติจบแล้ว ได้บรรลุปัญญาอันสูงสุด มีความรู้จริง เห็นจริง และบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ นิพพาน

ประโยชน์ของจิตเกษมคือ

1. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

2. มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถที่พิเศษขึ้น

3. ทำให้ไม่มีภัย

4. ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

สรุปเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนา (ชาดก)


ชาดก เรื่อง มโหสถชาดก

ชาดก คือ เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฏก โดยแสดงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติปางก่อน (เรียกว่า พระโพธิสัตว์) ซึ่งต้องสะสมปัญญาบารมีในด้านต่างๆ เช่น ความมีเมตตา ความเพียร ฯลฯ ก่อนที่จะส่งผลให้ทรงเสวยชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

มโหสถ เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ ชาติที่ ๕ ในทศชาติ มีเรื่องราวโดยย่อดังนี้

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในพระราชสำนักของพระเจ้าวิเทหะ เมืองมิถิลา มีราชบัณฑิตอยู่ ๔ คน คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และ เทวินทะ มีบ้านอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ คราวนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐีและนางสุมนาเทวี ในหมู่บ้านอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมิถิลา ในวันถือปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น พระราชาทรงสุบินว่า ที่มุมสนามหลวง ๔ มุมมีกองเพลิงใหญ่เท่ากำแพงเมือง ๔ กอง ในท่ามกลางมีกองไฟเท่าหิ่งห้อย ๑ กอง แต่กลับส่องสว่างไสวมากกว่ากองเพลิงทั้ง ๔ กองนั้นโหรหลวงจำทำนายว่าจักมีบัณฑิตคนสำคัญมาเกิดในเมืองนี้มโหสถกุมารได้แสดงความเป็นบัณฑิตตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น มีความสามารถออกแบบสร้างศาลาและให้ประดับตกแต่งศาลาพร้อมกับปลูกไม้ดอกไม้ประดับได้ และได้แสดงความอัจฉริยะทางสติปัญญาหลายประการ ได้แก่ แสดงวิธีชิงเอาชิ้นเนื้อจากปากเหยี่ยวที่บินอยู่บนท้องฟ้าได้ ได้ตัดสินคดีเรื่องการแย่งเป็นเจ้าของวัว ได้ตัดสินคดีว่าด้วยเรื่องการแย่งกันเป็นเจ้าของสร้อยประดับ เป็นต้น ตลอดจนถึงได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พระราชาได้ทดสอบปัญญาของท่านด้วยวิธีการต่างๆ จนเป็นที่พอพระทัยของพระราชา

เมื่อพระราชาทดสอบปัญญาของมโหสถหลายครั้งจนเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า และทรงรับมโหสธเข้ารับราชการ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้ใช้ปัญญาแก้ไขปริศนาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี และเมื่อมโหสถอายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้แต่งงานกับธิดาตระกูลเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า อมราเทวี ซึ่งนางก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ เช่นเดียวกัน

การแสดงเหตุผลของมโหสถบัณฑิตทุกครั้ง เป็นที่ตะขิดตะขวงใจของราชบัณฑิตทั้ง ๔ ท่านอยู่ไม่น้อย บางครั้งก็มีการหักหน้า ลบล้างข้อคิดเห็นของราชบัณฑิต ทำให้ราชบัณฑิตทั้ง ๔ พยายามหาเรื่องใส่ความท่าน แต่ท่านก็สามารถแก้ปัญหาด้วยปัญญาของท่านเองได้ทุกครั้ง

ในเรื่องการวางแผนด้านยุทธศาสตร์นั้น มโหสถบัณฑิตมีความสามารถเช่นเดียวกัน ดังเช่นเมื่อครั้งพระเจ้าจุลนีพรมทัตแห่งเมืองอุตรปัญจาละคิดการใหญ่ตามคำกราบทูลของเกวัฏปุโรหิต เพื่อจะยึดครองแว่นแคว้นต่างๆ มาเป็นเมืองขึ้น รวมทั้งเมืองมิถิลาด้วย พระองค์ได้ทรงปราบปรามมีชัยชนะเหนือพระราชาในแคว้นใกล้เคียงโดยรอบ ยึดครองได้ถึง ๑๐๑ แคว้น และได้ยกทัพพร้อมด้วยกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์มาล้อมเมืองมิถิลาไว้ แต่ด้วยการวางแผนการรบก่อนอย่างรอบคอบหลายชั้นของมโหสถบัณฑิต เริ่มตั้งแต่การส่งสายลับไปอยู่กับศัตรู เพื่อทราบความเคลื่อนไหวจนถึงการใช้กุสโลบายต่างๆ เพื่อให้ข้าศึกไม่อาจตีเมืองมิถิลาได้ แถมยังถูกทหารของเมืองมิถิลาตีแตกกระเจิง จนทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์พร้อมนักรบเสียขวัญหนีเอาตัวรอด และด้วยความสามารถเชิงการฑูตที่ยอดเยี่ยมยังทำให้พระเจ้าวิเทหะกับพระเจ้าจุลนีพรมทัตมาผูกไมตรีกันได้

เมื่อพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยอมยกพระธิดาของพระองค์ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าวิเทหะ ตามแผนการของมโหสถบัณฑิต ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหะสวรรคต พระโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติแทน พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงมีพระประสงค์ให้เมืองของพระองค์มีบัณฑิตอย่างมโหสธบ้าง จึงขอให้มโหสถบัณฑิตมาอยู่ที่เมืองของพระองค์มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลลาพระเจ้ากรุงมิถิลาไปรับตำแหน่งปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าจุลนีพรมทัตและอยู่ด้วยความผาสุกจนสิ้นอายุขัย

มโหสถชาดก มีสาระสำคัญพอจะสรุปได้ดังนี้
มโหสถ มีชาติกำเนิดเป็นบุตรของเศรษฐีชื่อ สิริวัฒกะ และนางสุมนาเทวี แห่งเมืองมิถิลา เหตุที่ใช้ชื่อว่า "มโหสถ" เพราะเมื่อแรกคลอดมือทารกน้อยถือแท่งยาวิเศษของพระอินทร์ติดตัวมา ซึ่งต่อมาได้นำมารักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์

ความสามารถของมโหสถ ได้แสดงสติปัญญาอันเฉียบแหลมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทให้เพื่อนบ้านด้วยสติปัญญษอันชาญฉลาด รวมทั้งถูกพระราชาทดสอบการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมโหสถสามารถทำได้ด้วยดี สรุปได้ดังนี้

สร้างศาลาที่พักคนเดินทาง
โดยระดมทุนจากเด็กๆ ในวัยเดียวกัน ทั้งนี้มโหสถเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเองจนสำเร็จ

ตัดสินข้อพิพาทแย่งชิงวัว
มีชายสองคนอ้าวความเป็นเจ้าของวัวตัวเดียวกัน และขอให้มโหสถช่วยตัดสิน มโหสถสอบถามถึงเรื่องอาหารที่ให้วัวกิน เจ้าของตัวจริงบอกว่าให้กินหญ้า เจ้าของตัวปลอมบอกว่าให้กินแป้ง งา และขนม เมื่อมโหสถได้ให้วัวกินยาขับจนอาเจียนออกมาเป็นหญ้า ทำให้ตัดสินได้ว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริง โดยได้สอนให้คนโกงนับถือศีล ๕ อีกด้วย

ตัดสินกรณีแย่งชิงบุตร
มีหญิงสองคนแย่งชิงเด็กน้อยผู้หญิง โดยต่างอ้างความเป็นมารดาของเด็ก มโหสถใช้วิธีพิสูจน์โดยให้หญิงทั้งสองใช้กำลังแย่งชิงเด็ก ทำให้เด็กน้อยร้องไห้ด้วยความตกใจและเจ็บปวด มารดาตัวจริงจึงยอมปล่อย และทรุดตัวร้องไห้เพราะความสงสารลูก มโหสถจึงตัดสินว่า หญิงที่ใจอ่อนปล่อยมือทารกเป็นมารดาของเด็กที่แท้จริง
ใช้ปัญญาแก้ปัญหาให้พระราชาชื่นชมในความสามารถ
พระเจ้าวิเทหะกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ได้ทรงทดสอบภูมิปัญญาของมโหสถหลายครั้ง เช่น ได้พิสูจน์ว่าไม้ตะเคียนข้างใดเป็นโคน ข้างใดเป็นปลาย มโหสถได้หย่อนไม้ตะเคียนลงในน้ำ ข้างโคนมีน้ำหนักจะจมก่อน

มโหสถได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประจำราชสำนัก
ได้แสดงสติปัญญาแก้ไขปัญหาในงานบริหารราชการแผ่นดินของพระเจ้าวิเทหะด้วยดีตลอดมา ได้ใช้ปัญญาแก้ไขสถานการณ์คับขัน ช่วยป้องกันบ้านเมืองจากการคุกคามของกองทัพข้าศึกศัตรูหลายครั้ง ทำให้มโหสถเป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งนัก

ชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้มีปัญญาเพรียบพร้อมด้วยคุณธรรม ย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขของปวงชนเป็นสำคัญ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาเรื่องมโหสถชาดก คือ
๑. ผู้มีปัญญาและถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดีย่อมได้รับการยอมรับจากมหาชน และทำให้ตนเองมีความสุข ความเจริญในการดำเนินชีวิต
๒. คุณธรรมของผู้มีเมตตา คือ มีความเมตตา และปรารถนาดีต่อผู้อื่น มิเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน และคิดจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

แนวข้อสอบชาดก

ประเด็นที่สำคัญคือ

๑. มโหสถมีความสามารถในด้านใดบ้าง ?

๒. มโหสถชาดกสอนให้เราได้รู้อะไร ?

๓. ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาเรื่องมโหสถชาดกคือ ?