วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

พระธัมมทินนาเถรี


พระธัมมทินนาเถรี

พระธรรมทินนาเถรีเป็นชาวเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นภริยาของท่านวิสาขเศรษฐี ผู้สหายของพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขเศรษฐีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกพร้อมกันกับพระเจ้าพิมพิสาร ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่วันนั้น ต่อมาวันหนึ่ง ท่านเศรษฐีได้รับฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุอนาคามิผล ปกติพระอริยบุคคลระดับอนาคามีละความต้องการทางเพศได้แล้ว วันนั้น นางธรรมทินนาไม่ทราบว่าสามีบรรลุอนาคามิผลแล้ว เมื่อเห็นสามีกลับมาถึงบ้าน ยืนอยู่หัวบันไดก็ยื่นมือส่งให้หมายจะให้สามีเกาะ ปรากฏว่าสามีไม่เกาะและไม่พูดว่าอะไร สร้างความสงสัยให้แก่นางมาก เมื่อสามีรับประทานอาหารอิ่มแล้ว นางไม่สบายใจคิดว่าตนเองทำอะไรผิดสามีคงโกรธจึงสอบถามดู เมื่อท่านวิสาขเศรษฐีอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุไม่แตะต้องกายเธอ และบอกว่านับแต่บัดนี้ไปเธอประสงค์ทรัพย์เท่าใด จงรับเอาไปตามใจชอบแล้วกลับไปครอบครัวเดิมเสียเถิด นางธรรมทินนาจึงบอกสามีว่าถ้าเช่นนั้นฉันขออนุญาตไปบวชเป็นภิกษุณี สามีก็อนุญาต และเพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา วิสาขเศรษฐีจึงขอพระราชทานวอทองจากพระเจ้าพิมพิสารแห่นางรอบเมืองอย่างสมเกียรติ

เมื่อนางธรรมทินนาบวชแล้วก็ลาอุปัชฌาย์อาจารย์ไปปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งอยู่ต่างเมือง อีกไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วก็กลับมาโปรดอดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขเศรษฐีอดีตสามีพบท่านจึงนิมนต์ไปฉันภัตตาหารพลางคิดว่า พระเถรีคงอยากจะสึกจึงลองถามปัญหากับพระเถรี พระเถรีตอบได้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งจนหมดปัญญาที่จะถามต่อ จึงรู้แน่ว่าพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงมีความยินดียิ่งและกล่าวอนุโมทนาพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมทินนาเถรีว่าเป็นยอดทางด้านธรรมกถึก มีปัญญาเฉลียวฉลาดแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระธรรมทินนาเถรีก่อนออกบวชนั้น เมื่อได้ทราบว่าวิสาขเศรษฐีผู้สามีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้บรรลุธรรมแล้ว จึงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ใคร่จะออกบวช จึงขออนุญาตสามีซึ่งสามีก็อนุญาตให้บวชได้ตามความประสงค์

2. เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อพระเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็หวลระลึกนึกถึงวิสาขาเศรษฐีพร้อมด้วยหมู่ญาติ ก็ได้ เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อแสดงธรรมโปรดวิสาขเศรษฐีและหมู่ญาติได้ให้รับผลอันเกิดจากการฟังธรรม แสดงถึงความที่พระ เถรีมีความกตัญญูอย่างแท้จริง

3. เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านธรรมกถึก จึงสมควรที่จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น: