วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

สรุปเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนา (ชาดก)


ชาดก เรื่อง มโหสถชาดก

ชาดก คือ เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฏก โดยแสดงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติปางก่อน (เรียกว่า พระโพธิสัตว์) ซึ่งต้องสะสมปัญญาบารมีในด้านต่างๆ เช่น ความมีเมตตา ความเพียร ฯลฯ ก่อนที่จะส่งผลให้ทรงเสวยชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

มโหสถ เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ ชาติที่ ๕ ในทศชาติ มีเรื่องราวโดยย่อดังนี้

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในพระราชสำนักของพระเจ้าวิเทหะ เมืองมิถิลา มีราชบัณฑิตอยู่ ๔ คน คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และ เทวินทะ มีบ้านอยู่ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ คราวนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐีและนางสุมนาเทวี ในหมู่บ้านอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมิถิลา ในวันถือปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น พระราชาทรงสุบินว่า ที่มุมสนามหลวง ๔ มุมมีกองเพลิงใหญ่เท่ากำแพงเมือง ๔ กอง ในท่ามกลางมีกองไฟเท่าหิ่งห้อย ๑ กอง แต่กลับส่องสว่างไสวมากกว่ากองเพลิงทั้ง ๔ กองนั้นโหรหลวงจำทำนายว่าจักมีบัณฑิตคนสำคัญมาเกิดในเมืองนี้มโหสถกุมารได้แสดงความเป็นบัณฑิตตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น มีความสามารถออกแบบสร้างศาลาและให้ประดับตกแต่งศาลาพร้อมกับปลูกไม้ดอกไม้ประดับได้ และได้แสดงความอัจฉริยะทางสติปัญญาหลายประการ ได้แก่ แสดงวิธีชิงเอาชิ้นเนื้อจากปากเหยี่ยวที่บินอยู่บนท้องฟ้าได้ ได้ตัดสินคดีเรื่องการแย่งเป็นเจ้าของวัว ได้ตัดสินคดีว่าด้วยเรื่องการแย่งกันเป็นเจ้าของสร้อยประดับ เป็นต้น ตลอดจนถึงได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พระราชาได้ทดสอบปัญญาของท่านด้วยวิธีการต่างๆ จนเป็นที่พอพระทัยของพระราชา

เมื่อพระราชาทดสอบปัญญาของมโหสถหลายครั้งจนเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า และทรงรับมโหสธเข้ารับราชการ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้ใช้ปัญญาแก้ไขปริศนาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี และเมื่อมโหสถอายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้แต่งงานกับธิดาตระกูลเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า อมราเทวี ซึ่งนางก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ เช่นเดียวกัน

การแสดงเหตุผลของมโหสถบัณฑิตทุกครั้ง เป็นที่ตะขิดตะขวงใจของราชบัณฑิตทั้ง ๔ ท่านอยู่ไม่น้อย บางครั้งก็มีการหักหน้า ลบล้างข้อคิดเห็นของราชบัณฑิต ทำให้ราชบัณฑิตทั้ง ๔ พยายามหาเรื่องใส่ความท่าน แต่ท่านก็สามารถแก้ปัญหาด้วยปัญญาของท่านเองได้ทุกครั้ง

ในเรื่องการวางแผนด้านยุทธศาสตร์นั้น มโหสถบัณฑิตมีความสามารถเช่นเดียวกัน ดังเช่นเมื่อครั้งพระเจ้าจุลนีพรมทัตแห่งเมืองอุตรปัญจาละคิดการใหญ่ตามคำกราบทูลของเกวัฏปุโรหิต เพื่อจะยึดครองแว่นแคว้นต่างๆ มาเป็นเมืองขึ้น รวมทั้งเมืองมิถิลาด้วย พระองค์ได้ทรงปราบปรามมีชัยชนะเหนือพระราชาในแคว้นใกล้เคียงโดยรอบ ยึดครองได้ถึง ๑๐๑ แคว้น และได้ยกทัพพร้อมด้วยกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์มาล้อมเมืองมิถิลาไว้ แต่ด้วยการวางแผนการรบก่อนอย่างรอบคอบหลายชั้นของมโหสถบัณฑิต เริ่มตั้งแต่การส่งสายลับไปอยู่กับศัตรู เพื่อทราบความเคลื่อนไหวจนถึงการใช้กุสโลบายต่างๆ เพื่อให้ข้าศึกไม่อาจตีเมืองมิถิลาได้ แถมยังถูกทหารของเมืองมิถิลาตีแตกกระเจิง จนทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์พร้อมนักรบเสียขวัญหนีเอาตัวรอด และด้วยความสามารถเชิงการฑูตที่ยอดเยี่ยมยังทำให้พระเจ้าวิเทหะกับพระเจ้าจุลนีพรมทัตมาผูกไมตรีกันได้

เมื่อพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยอมยกพระธิดาของพระองค์ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าวิเทหะ ตามแผนการของมโหสถบัณฑิต ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหะสวรรคต พระโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติแทน พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงมีพระประสงค์ให้เมืองของพระองค์มีบัณฑิตอย่างมโหสธบ้าง จึงขอให้มโหสถบัณฑิตมาอยู่ที่เมืองของพระองค์มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลลาพระเจ้ากรุงมิถิลาไปรับตำแหน่งปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าจุลนีพรมทัตและอยู่ด้วยความผาสุกจนสิ้นอายุขัย

มโหสถชาดก มีสาระสำคัญพอจะสรุปได้ดังนี้
มโหสถ มีชาติกำเนิดเป็นบุตรของเศรษฐีชื่อ สิริวัฒกะ และนางสุมนาเทวี แห่งเมืองมิถิลา เหตุที่ใช้ชื่อว่า "มโหสถ" เพราะเมื่อแรกคลอดมือทารกน้อยถือแท่งยาวิเศษของพระอินทร์ติดตัวมา ซึ่งต่อมาได้นำมารักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์

ความสามารถของมโหสถ ได้แสดงสติปัญญาอันเฉียบแหลมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทให้เพื่อนบ้านด้วยสติปัญญษอันชาญฉลาด รวมทั้งถูกพระราชาทดสอบการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมโหสถสามารถทำได้ด้วยดี สรุปได้ดังนี้

สร้างศาลาที่พักคนเดินทาง
โดยระดมทุนจากเด็กๆ ในวัยเดียวกัน ทั้งนี้มโหสถเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเองจนสำเร็จ

ตัดสินข้อพิพาทแย่งชิงวัว
มีชายสองคนอ้าวความเป็นเจ้าของวัวตัวเดียวกัน และขอให้มโหสถช่วยตัดสิน มโหสถสอบถามถึงเรื่องอาหารที่ให้วัวกิน เจ้าของตัวจริงบอกว่าให้กินหญ้า เจ้าของตัวปลอมบอกว่าให้กินแป้ง งา และขนม เมื่อมโหสถได้ให้วัวกินยาขับจนอาเจียนออกมาเป็นหญ้า ทำให้ตัดสินได้ว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริง โดยได้สอนให้คนโกงนับถือศีล ๕ อีกด้วย

ตัดสินกรณีแย่งชิงบุตร
มีหญิงสองคนแย่งชิงเด็กน้อยผู้หญิง โดยต่างอ้างความเป็นมารดาของเด็ก มโหสถใช้วิธีพิสูจน์โดยให้หญิงทั้งสองใช้กำลังแย่งชิงเด็ก ทำให้เด็กน้อยร้องไห้ด้วยความตกใจและเจ็บปวด มารดาตัวจริงจึงยอมปล่อย และทรุดตัวร้องไห้เพราะความสงสารลูก มโหสถจึงตัดสินว่า หญิงที่ใจอ่อนปล่อยมือทารกเป็นมารดาของเด็กที่แท้จริง
ใช้ปัญญาแก้ปัญหาให้พระราชาชื่นชมในความสามารถ
พระเจ้าวิเทหะกษัตริย์แห่งเมืองมิถิลา ได้ทรงทดสอบภูมิปัญญาของมโหสถหลายครั้ง เช่น ได้พิสูจน์ว่าไม้ตะเคียนข้างใดเป็นโคน ข้างใดเป็นปลาย มโหสถได้หย่อนไม้ตะเคียนลงในน้ำ ข้างโคนมีน้ำหนักจะจมก่อน

มโหสถได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประจำราชสำนัก
ได้แสดงสติปัญญาแก้ไขปัญหาในงานบริหารราชการแผ่นดินของพระเจ้าวิเทหะด้วยดีตลอดมา ได้ใช้ปัญญาแก้ไขสถานการณ์คับขัน ช่วยป้องกันบ้านเมืองจากการคุกคามของกองทัพข้าศึกศัตรูหลายครั้ง ทำให้มโหสถเป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งนัก

ชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้มีปัญญาเพรียบพร้อมด้วยคุณธรรม ย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขของปวงชนเป็นสำคัญ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาเรื่องมโหสถชาดก คือ
๑. ผู้มีปัญญาและถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดีย่อมได้รับการยอมรับจากมหาชน และทำให้ตนเองมีความสุข ความเจริญในการดำเนินชีวิต
๒. คุณธรรมของผู้มีเมตตา คือ มีความเมตตา และปรารถนาดีต่อผู้อื่น มิเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน และคิดจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

ประโยชน์​บานเลยคับ

Unknown กล่าวว่า...

คุณธรรมของพระมโหสถมีอะไรบ้างคะ