วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

อริยสัจ ๔ : มรรค

อริยสัจ 4 : มรรค : อปริหานิยธรรม 7
อปริหานิยธรรม 7 (condition of welfare)
อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียว สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมืองและพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้คือ อปริหานิยธรรมสำหรับหมู่ชนและการบริหารบ้านเมือง เป็นหลักในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว มี 7 ประการคือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

3. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

5. ไม่ข่มเหงสตรี เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลย พิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการพบปะปรึกษาหารือกิจการงานคณะสงฆ์โดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจกรรมสงฆ์ ซึ่งการประชุม และการทำกิจกรรมใดที่สงฆ์พึงกระทำร่วมกันและพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไขสิ่งเสียหาย เหตุไม่ดีไม่งาม

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ คือการไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

4. เคารพและรับฟังถ้อยคำของภิกษุผู้ใหญ่ คือภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง เช่น เราเคารพนับถือและเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระสังฆราช พระราชาคณะต่าง ๆ เป็นต้น

5. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่เกิดขึ้น

6. ยินดีในเสนาสนะป่า ยินดีในความเป็นอยู่ที่ง่าย ๆ เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ที่สงบร่มเย็น

7. ยินดีสมาชิกใหม่และความปรารถนาดีต่อสมาชิกเก่า คือตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารี (พระภิกษุสงฆ์) ทั้งหลายที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน และมีความปรารถนาดีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่เก่าให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุก

อริยสัจ 4 : มรรค : ปาปณิกธรรม 3
ปาปณิกธรรม 3 (qualities of a successful shopkeeper or businessman)
ปาปณิกธรรม คือ หลักของการเป็นพ่อค้า หรือคุณสมบัติของพ่อค้า หมายถึง การเป็นพ่อค้าที่ดีจะต้องมีหลักในการค้าหรือมีคุณสมบัติด้านการค้าดังต่อไปนี้

1. จักขุมา คือ ตาดี หมายถึง การรู้จักสินค้า ดูสินค้าเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

2. วิธูโร คือ จัดเจนธุรกิจ หมายถึง รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวหรือความต้องการของตลาด มีความสามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า บริการตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

3. นิสสยสัมปันโน คือ มีพร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย หมายถึง ทำตัวเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจใสหมู่แหล่งทุนใหญ่ (เครดิตดี) มีความสามารถหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้โดยง่าย

อริยสัจ 4 : มรรค : ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4
ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (virtues condutive to benefits in the present)


ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1. อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2. อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3. กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4. สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

อริยสัจ 4 : มรรค : โภคาอาทิยะ 5
โภคาอาทิยะ 5 (uses of possessions)


โภคอาทิยะ คือ เมื่อมีทรัพย์สิน ควรนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย

1. ใช้จ่ายทรัพย์ นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข

2. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

3. ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ

4. ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่าง ได้แก่

......ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร

......ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ

......ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

......ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของสังคม

......จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ

5. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

อริยสัจ 4 : มรรค : อริยวัฑฒิ 5
อริยวัฑฒิ 5 (noble growth)


อริยวัฑฒิ คือ ความเจริญอย่างประเสริฐ คือหลักความเจริญของอารยชน หรือคนที่เจริญแล้ว ประกอบด้วย

1. ศรัทธา คือความเชื่อ ความเชื่อที่ถูกต้อง ความเชื่อที่เป็นจริง ความเชื่อมั่นในหลักพระพุทธศาสนา ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยความไม่งบงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นต้น

2. ศีล คือความประพฤติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจา ความมีระเบียบวินัย การทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต เป็นต้น

3.สุตะ คือการเล่าเรียนสดับตรับฟังการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอความรู้ความเข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาพอแก่การปฏิบัติและสามารถแนะนำผู้อื่นได้

4. จาคะ คือ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจช่วยเหลือ ความเป็นคนใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว จิตใจไม่คับแคบ เป็นต้น

5. ปัญญา คือ ความรอบรู้ การรู้จักคิด รู้จักการพิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุข รู้และเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้

อริยสัจ 4 : มรรค : มงคล 38 : ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว
ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว โลกธรรม คือ เรื่องของโลก ธรรมดาของโลก ธรรมชาติของโลก หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นอยู่คู่กับมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ไม่มีใครสามารถหลุดพ้นได้ แม้แต่พระอริยบุคคลก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โลกธรรม มี 8 อย่างแบ่งออกเป็น

1. อารมณ์ที่น่าปรารถนา พึงพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความสุข

2. อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่พึงพอใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ได้รับการนินทา และได้รับความทุกข์โลกธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเกิดขึ้นกับปุถุชนทั่วไป และเกิดแก่พระอริยสาวก จะแตกต่างกันก็แต่การวางใจและการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ

1) ปุถุชนทั่วไป ที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่รู้จักฝึกอบรมตน ย่อมไม่เข้าใจ ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ลุ่มหลงลืมตน ยินดียินร้าย คราวได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็หลงไหลมัวเมา หรือลำพองจนเหลิงลอย คราวเสียลาภ เสียยศ ถูกนินทา และเป็นทุกข์ ก็เกิดการท้อ หมดกำลังใจ หรือถึงกับคลุ้มคลั่ง ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ ไม่พ้นจากความทุกข์โศก

2) ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม ผู้เป็นอริยสาวก สามารถรู้และพิจารณารู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นกับตน ล้วนไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่สมบูรณ์ มีความแปรปรวนได้เป็นธรรมดา จึงไม่หลงไหลมัวเมา เคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปละไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา มีจิตใจไม่หวั่นไหว มีสติดำรงอยู่ได้ วางตัววางใจให้พอดี ไม่หลงระเริงในความสุข และไม่ถูกความทุกข์ทับถมจิตใจ เป็นต้นยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบ ยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบเป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตนและใช้อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นโอกาสหรือเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม และบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป

จิตไม่เศร้าโศก

ความเศร้าโศก ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นปฏิกิริยาอาการที่ไม่ดีของธรรมชาติสำหรับมนุษย์ อันเกิดมาจากสาเหตุต่าง ๆ นา ๆ นานัปการ เช่น เกิดจากความเสื่อมจากญาติ เกิดจากความเสื่อมจากทรัพย์ เกิดจากความเสื่อมจากเกียรติยศชื่อเสียง หรือเกิดจากการถูกทำลาย ทั้งทางกายและจิตใจ หรือความขัดแย้งกันระหว่างความรู้สึกภายในจิตใจกับสิ่งภายนอกร่างกาย

ความเศร้าโศก ต้องบรรเทาด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการระงับความรู้สึก ด้วยการข่มจิตใจและด้วยการปรับเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีให้เป็นความรู้สึกที่ดี เช่น ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้เคยทำไว้ในกาลก่อน หรือด้วยการระงับประสาทระงับความรู้สึกที่ไม่ดี

การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก จึงเป็นภาวะของพระอริยเจ้า ที่มีจิตใจสงบ มั่นคง เด็ดเดี่ยว หนักแน่นและเข้มแข็ง เพราะความรู้สึกเล็ก ๆ น้อยจากความเสื่อมทั้งหลายที่กล่าวมา ไม่สามารถทำให้ท่านมีจิตใจหวั่นไหวและเศร้าโศกได้ เป็นคุณสมบัติอันพิเศษ อันอยู่เหนือวิสัยของปุถุชนคนธรรมดา เป็นภาวะที่มาจากการฝึกฝนจิตให้เข้มแข็ง ทำให้มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจสูง ทำให้มีพลังความอดทนและความเด็ดเดี่ยวอยู่เหนือความรู้สึกทั้งหมด ความไม่เศร้าโศกจึงทำให้ร่างกาย และจิตใจผ่องใสเบิกบาน ทำให้เป็นศิริมงคลแก่ตัวเองและผู้พบเห็น เป็นการบรรลุจุดหมายอันสูงสุดของชีวิต เป็นผู้กำจัดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของชีวิตได้หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้ดำรงอยู่ในปรมัตถธรรม พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก เป็นมงคลสูงสุด

ราคะ คือ ความกำหนัดรักใคร่อยากในรูป เสียง กลิ่น รส และอยากสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่พึงพอใจ ชอบใจ ทำให้สุขกายสุขใจที่ผสมไปด้วยความทุกข์ และความเศร้าหมองของกายและใจ

โทสะ คือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความอาฆาตพยาบาทและปองร้าย ความรู้สึกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งทางร่ายกาย วาจาและใจ เป็นภาวะที่ไม่ดีแก่ตัวเองและผู้อื่นเมื่อเกิดความโกรธขึ้น

โมหะ คือ ความหลง ความโง่เขลาเบาปัญญา ความหลงผิด ความเป็นผิดเป็นถูก ความเห็นถูกเป็นผิด เป็นความรู้สึกที่ขาดประสบการณ์ ขาดการวิเคราะห์ ขาดความรับผิดชอบชั่วดีในเรื่องคุณธรรม

ราคะ โดยธรรมชาติแล้ว เป็นสิ่งที่มีโทษน้อยและคลายช้า แต่ถ้ามีโทสะ โมหะเกิดขึ้นร่วมด้วยก็จะทำให้ราคะมีโทษมาก มีพลังมาก มีความรุนแรงมาก ดังนั้นจึงควรกำจัดหรือระงับราคะด้วยอสุภสัญญา คือ พยายามวิเคราะห์ หรือพิจารณาทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส และอารมณ์ความรู้สึกเป็นของธรรมดา อีกไม่ช้าก็จะสูญสลายไปในที่สุด

จิตเกษม
จิตเกษม คือ จิตที่มีสภาวะเป็นกลางและจิตที่ปราศจากกิเลส คือ ไม่มีกิเลสที่เรียกว่า โยคะ และโยคะ ได้แก่ กิเลสที่ครอบงำ สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ที่มีกิเลส อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า โยคะ มี 4 อย่างคือ

1. กามโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความรักใคร่ ความพอใจ ผูกใจติดอยู่ในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

2. ภวโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความพอใจ หลงอยู่ติดอยู่ในรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่มีรูปร่าง 16ชั้น มีชั้นมหาพรหม เป็นต้น และอรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่ไม่มีรูปร่าง มี 4 ชั้น มีชั้นสวิญญาณัญจายตนะ เป็นต้น และความผูกใจติดอยู่ในฌาน 4 มี ปฐมฌาน เป็นต้น อันเป็นความกำหนัดที่ประกอบไปด้วยความเชื่อว่า จิตวิญญาณ เป็นของเที่ยง ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย

3. ทิฏฐิโยคะ ได้แก่ ความพอใจหลงติดอยู่ในทิฏฐิ 62 ประการ คือ มีความเชื่อว่า โลกนี้เที่ยง เป็นต้น อันเป็นความเห็นผิดที่ครอบงำสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจของการเวียนว่ายตายเกิด

4. อวิชชาโยคะ ได้แก่ กิเลสครอบงำสัตว์ให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ทำให้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ความจริงตามแบบอริยสัจทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ได้ ทำให้เป็นทุกข์สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ หาจุดหมายไม่ได้ การมีจิตเกษม เป็นเหตุให้ปลอดโปร่งโล่งใจ เป็นเหตุให้เป็นอิสรภาพจากโลกธรรมทั้งหลาย คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศได้รับคำสรรเสริญ ถูกนินทา ได้รับความสุข และความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถครอบงำจิตใจของเราได้ จึงมีความเป็นอยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้มีความเป็นเอกภาพในตัวเอง คือ ได้ศึกษาค้นคว้าฝึกปฏิบัติจบแล้ว ได้บรรลุปัญญาอันสูงสุด มีความรู้จริง เห็นจริง และบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ นิพพาน

ประโยชน์ของจิตเกษมคือ

1. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

2. มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถที่พิเศษขึ้น

3. ทำให้ไม่มีภัย

4. ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: