วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

จิตตคหบดี


จิตตคหบดี

จิตคหบดีเป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ วันที่ท่านเกิดมีปรากฏการณ์ประหลาด คือ มีดอกไม้หลากสีตกลงทั่วเมือง ซึ่งเป็นนิมิตหมายแห่งความวิจิตรสวยงาม ท่านจึงได้นามว่า จิตตกุมาร แปลว่า กุมารผู้น่าพิศวงหรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม บิดาของท่านเป็นเศรษฐีท่านจึงได้เป็นเศรษฐีสืบต่อมาจากบิดา ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า จิตตคหบดี ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธศาสนาท่านมีโอกาสพบพระมหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เห็นท่านสงบสำรวมน่าเลื่อมใสมาก จึงมีความศรัทธานิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวนชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ พระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ วันหนึ่งได้แสดงเรื่อง อายตนะ 6 (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนา จิตตคหบดีได้บรรลุ อนาคามิผล จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เนือง ๆ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดี ความสามารถของท่านในด้านนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้มีใจบุญได้ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันครึ่งเดือนก็เคยมี เคยพาบริวารสองพันคนบรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น จำนวนมากถึง 500 เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ความเป็นผู้มีมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ของจิตตคหบดีได้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ดังเช่นคราวหนึ่ง ท่านป่วยหนึก พวกเทวดามาปรากฏต่อหน้าท่าน พร้อมกับบอกว่า คนมีศีลมีธรรมอย่างท่าน ถึงตายไปก็ย่อมไปดี แม้ปรารถนาจะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชาติหน้าก็ย่อมได้ จิตตคหบดีตอบว่า “แม้ราชสมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ” บรรดาบุตรหลานที่เผ้าไข้อยู่ได้ยินจิตตคหบดีพูดอยู่คนเดียว จึงกล่าวเตือนว่า “ตั้งสติให้ดี อย่าเพ้อเลย” ท่านบอกบุตรหลานว่า มิได้เพ้อ เทวดามาบอกให้ปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรด์ แต่ท่านบอกพวกเขาไปว่าท่านไม่ต้องการ ยังมีสิ่งอื่นที่ประเสริฐกว่าความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก เมื่อบุตรหลานถามว่า สิ่งนั้นคืออะไร จิตตคหบดีตอบว่า “ศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดทั้งหมด”

คุณธรรมที่ถือเอาเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาธรรม จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เก่งในการแสดงธรรมและการสั่งสอนธรรม ท่านเป็นคนฉลาดมีเหตุผลในการให้คำอธิบายหลักธรรมต่าง ๆ ที่เชื่อกันผิด ๆ ให้กลับเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้

2. เป็นคนใจบุญ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยศรัทธามั่นคง พบพระสงฆ์ก็ทำบุญถวายทาน สร้างวัดถวาย เป็นต้น

3. มีศรัทธาตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย โดยมีศรัทธาความเชื่อที่ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย มากกว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

4. เป็นแบบอย่างของอุบาสกที่ดี คือฟังธรรมตามโอกาส บรรยายธรรมตามโอกาส ปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อมีนักบวชในศาสนาอื่นจาบจ้วง และปกป้องด้วยสติปัญญา ความสามารถ โดยไม่กล่าวร้ายตอบโต้

ไม่มีความคิดเห็น: